วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การผลิตและการตลาดเห็ดฟาง

การผลิตและการตลาดเห็ดฟาง

เห็ดฟางเป็นเห็ดที่มีการผลิตเป็นอันดับ ๕ ของโลก รองจากเห็ดแชมปิญอง เห็ดสกุลนางรม เห็ดหอม และเห็ดหูหนู

ประเทศที่มีการผลิตเห็ดฟางมากคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย และมาเลเซีย

ในประเทศไทยมีผลผลิตประมาณกว่า ๘๔,๐๐๐ ตัน/ปี หรือร้อยละ ๗๐ ของเห็ดทั้งประเทศ มูลค่าการผลิต ๓,๗๘๐ ล้านบาท ก่อให้เกิดธุรกิจหมุนเวียนประมาณ ๘,๔๐๐ ล้านบาท / ปี

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๔๕ บาท และราคาสูงสุดเคยได้ถึงกิโลกรัมละ ๙๐-๑๐๐ บาท ในช่วงเทศกาลอาหารเจในเดือนตุลาคมของทุกปี

ต้นทุนการเพาะเห็ดและผลตอบแทน

ต้นทุนการผลิตเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

-เห็ดฟางจากฟางข้าว ๑๘.๐๐ บาท / กิโลกรัม

-เห็ดฟางจากเปลือกถั่วเขียว ๑๗.๐๐ บาท / กิโลกรัม

-เห็ดฟางจากเปลือกมันสำปะหลัง ๑๕.๐๐ บาท / กิโลกรัม

-เห็ดฟางจากวัสดุอื่น ๆ ๑๕ -๒๐ บาท / กิโลกรัม

เห็ดฟางในโรงเรือนแบบอุตสาหกรรม

ก. ค่าวัสดุสร้างโรงเรือน (ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๒.๕-๓ เมตร) = ๗,๐๐๐ บาท (ใช้ได้ ๓-๕ ปี )

ข. อุปกรณ์ประกอบโรงเรือน (พลาสติกเคลือบ เทอร์โมมิเตอร์ เตาเศรษฐกิจ ท่อต่อไอน้ำ ฯลฯ = ๑,๐๐๐ บาท

ค. ค่าวัสดุทำปุ๋ยหมักและเชื้อเห็ดฟาง ๒,๕๐๐ บาท /ครั้ง/โรงเรือน คิดเป็นต้นทุนเห็ดฟางจากโรงเรือน ๓๐ บาท/ กิโลกรัม

ตลาดเห็ดฟาง

เห็ดฟางมีการผลิตมากในบริเวณรอบเมืองใหญ่ ๆ ที่มีการทำนาปลูกข้าวและมีฟางเหลือมาก นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง คือ จะต้องมีตลาดรองรับที่แน่นอน

การซื้อขายส่วนใหญ่จะทำผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด คือ เดือนเมษายน - พฤษภาคม และช่วงที่มีผลผลิตน้อย คือ ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งราคาเห็ดทุกชนิดจะสูงในช่วงนี้

การเก็บเห็ดฟาง เกษตรกรจะเก็บเห็ดตั้งแต่เที่ยงคืนหรืออย่างช้าตีสี่ส่งให้ขาประจำที่ไปรับซื้อหรือพ่อค้าท้องถิ่นในราคากิโลกรัมละ ๔๕ - ๕๐ บาท จากนั้นพ่อค้าคนกลางจะส่งเห็ดต่อไปยังตลาดสี่มุมเมืองและปากคลองตลาด ราคาขายปลีกที่ตลาดประมาณกิโลกรัมละ ๘๐ - ๙๐ บาท

โดยตลาดจะให้ราคาเห็ดฟางสูงเมื่อดอกตูม ส่วนดอกบานราคาจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่า

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำเห็ดฟางกระป๋องจะรับซื้อเห็ดฟางสดในราคากิโลกรัมละ ๒๕ - ๓๐ บาท เพื่อบรรจุกระป๋องและคัดเอาเฉพาะคุณภาพเท่านั้น

เห็ดฟางในตลาดนี้สามารถแบ่งได้เป็น ๓ รูปแบบคือ

๑.เห็ดฟางสดหรือแช่แข็ง เห็ดฟางสดเป็นที่นิยมรับประทานกันมากภายในประเทศแต่มักประสบปัญหาอากาศร้อนอบอ้าว การขนส่งจะต้องเก็บรักษาเห็ดให้สดเมื่อนำออกจำหน่ายเพื่อไม่ให้ราคาจำหน่ายที่ได้รับลดลง โดยเกษตรกรจะต้องเก็บเห็ดในช่วงกลางคืนในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืดเพื่อให้ทันการจำหน่ายที่ตลาดในช่วงเช้า

๒.เห็ดฟางแห้ง เป็นผลิตผลจากการแปรรูปเห็ดฟางสด โดยนำไปอบในตู้อบหรือตากแดดให้แห้ง ตลาดเห็ดฟางแห้งในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะผู้บริโภคยังสามารถหาซื้อเห็ดฟางสดมารับประทานได้ง่าย

๓.เห็ดฟางกระป๋องและภาชนะต่างๆ เห็ดฟางที่ส่งเข้าโรงงานนั้นจะต้องมีการคัดคุณภาพ ขนาด รูปร่าง สีสัน และตำหนิไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานสากลในการรับซื้อ

นอกจากนี้เห็ดฟางยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น น้ำพริกเผาเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด น้ำปลาเห็ด เห็ดดองน้ำปลา เป็นต้น

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย สามารถจะใช้วัสดุเพาะได้หลายอย่าง เช่น ฟาง ผักตบชวา ต้นถั่ว ต้นกล้วย ขี้เลื่อยที่ผ่านการเพาะเห็ดมาแล้ว ชานอ้อย เปลือกมันสำปะหลัง เปลือกถั่วเขียว ใส้นุ่น เป็นต้น

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยเป็นการเพาะที่ใช้วัสดุน้อยแต่ได้ผลผลิตดอกเห็ดสูง เมื่อเห็ดออกดอกแล้วใช้เวลาการเก็บผลผลิตทั้งหมดได้ในเวลาสั้นๆ สามารถรู้ผลผลิตค่อนข้างแน่นอน

เหมาะในการเพาะเป็นอาชีพหรือทำไว้เพื่อใช้กินเองในครัวเรือน เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยนี้มีขนาดกองเล็กมาก ใช้พื้นที่น้อยในการเพาะปลูก และใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นทำกองจนถึงเก็บผลผลิตได้ในเวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้น

ขั้นตอนการเพาะ

1. เตรียมพื้นที่เพาะซึ่งจะเพาะบนดินหรือบนพื้นคอนกรีตก็ได้ ถ้าเป็นพื้นดินก็ให้พรวนดินให้ร่วนเหมือนการปลูกผัก แล้วตากดินไว้ 1-2 วัน

2. โรยฟางแห้งที่แช่น้ำจนนุ่มแล้ว บนดินที่ร่วนซุยนั้น (หากเพาะบนพื้นปูน ก็ให้หาดินร่วนมาโรยบนปูนก่อน แล้วจึงโรยฟาง)

3. วางแบบไม้ที่จะใช้อัดก้อนเพาะบนฟางที่โรย ไม้แบบรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาด 0.30x1.0x0.30 ซม.

4. ใส่ฟางที่แช่น้ำจนนุ่มแล้วลงในแบบไม้ ชั้นที่ 1 หนาประมาณ 3 - 5 นิ้ว

5. จากนั้นจึงใส่อาหารเสริม *ขี้ฝ้ายหมัก* บนฟางบริเวณขอบ ๆ แบบไม้ด้านใน หนาประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้ของเรา

6. โรยขี้วัวแห้งบาง ๆ บนขี้ฝ้ายหมัก

7. โรยเชื้อเห็ดฟางบนขี้ฝ้ายหมักให้รอบแบบไม้เพาะ (พยายามโรยให้ชิดขอบแบบไม้ที่สุด) ถือว่าเสร็จสิ้นชั้นที่ 1

8. สำหรับชั้นต่อ ๆ ไป ก็ทำทุกอย่างเหมือนชั้นที่ 1 โดยทำ 4 - 5 ชั้นก็ได้

9. เมื่อครบทุกชั้นแล้ว ให้รดน้ำสะอาดบนกองเพาะประมาณ 1 ลิตร แล้วก็ดึงแบบไม้ออก วางแบบไว้ให้ห่างจากกองเดิมประมาณ 20 ซม. แล้วอัดก้อนเหมือนเดิม

10. ทำไปเรื่อย ๆ ให้ได้สัก 10 กอง

11. คลุมกองทั้งหมดด้วยพลาสติกให้มิดชิด (ให้ทั้ง 10 กองอยู่ในซุ้มเดียวกัน) พรางแสงด้วยพลาสติกดำ หรือฟางแห้ง ใบไม้ ใบตอง ฯลฯ

12. ปล่อยทิ้งไว้ 3 วัน จึงเปิดตัดใย

13. หลังจากนั้นอีก 5-6 วันก็เก็บดอกเห็ดได้แล้ว

การดูแลรักษากองเห็ด

1. ให้ใช้ผ้าพลาสติกใสหรือสีก็ได้ ถ้า เป็นผ้าพลาสติกยิ่งเก่าก็ยิ่งดีคลุม แล้วใช้ฟางแห้งคลุมกันแดดกันลม ให้อีกชั้นหนึ่ง

ควรระวังในช่วงวันที่ 1-3 หลังการกองเพาะเห็ด

ถ้าภายในกองร้อนเกินไปให้เปิดผ้าพลาสติกเพื่อระบายความร้อนที่ร้อนจัดจนเกินไป และเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น หากดูแลดีก็จะเก็บดอกเห็ดได้ประมาณในวันที่ 8-10 โดยไม่ต้องรดน้ำเลย

ผลผลิตโดยเฉลี่ยจะได้ดอกเห็ดประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อกอง

2. ตรวจดูความร้อนในกองเห็ด โดยปกติเราจะรักษาอุณหภูมิในกองเห็ดโดยเปิดตากลม ประมาณ 5-10 นาที แล้วปิดตามเดิม ทุกวันเช้าเย็น ถ้าวันไหนแดดจัดอุณหภูมิสูงความร้อนในกองเห็ดมาก ก็ควรเปิดชายผ้าพลาสติกให้นานหน่อย เพื่อระบายความร้อนในกองเห็ด

3. วิธีตรวจสอบความชื้นทำได้ไดยดึงฟางออกจากกองเพาะ แล้วลองบิดดู ถ้าน้ำไหลออกมาเป็นสายแสดงว่าแฉะไป แต่ถ้ากองฟาง แห้งไปเวลาบิดจะไม่มีน้ำซึมออกมาเลย ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไปก็ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้บัวรดน้ำเป็นฝอยเพียงเบา ๆ ให้ชื้น

4. หลังจากทำการเพาะเห็ดประมาณ 1 อาทิตย์ จะเริ่มมีตุ่มดอกเห็ดสีขาว เล็ก ๆ ในช่วงนี้ต้องงดการให้น้ำโดยตรงกับดอกเห็ด ถ้าดอกเห็ด ถูกน้ำในช่วงนี้ดอกเห็ดจะฝ่อและเน่าเสียหาย ให้รดน้ำที่ดินรอบกอง

การเก็บดอกเห็ด

เมื่อกองวัสดุเพาะเห็ดไปแล้ว 5-7 วัน จะเริ่มเห็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ เกิดขึ้น ตุ่มสีขาวเหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นเห็ดต่อไป

เกษตรกรจะเริ่มเก็บเห็ดได้เมื่อเพาะไปแล้วประมาณ 7-10 วัน แล้วแต่ความร้อน และการที่จะเก็บเห็ดได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะและฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็วกว่าฤดูหนาว เพราะความร้อน ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเห็ด

นอกจากนั้นถ้าใส่ "อาหารเสริม" ด้วยแล้ว จะทำให้เกิดดอกเห็ดเร็วกว่าไม่ใส่อีกด้วย

ดอกเห็ดที่ขึ้นเป็นกระจุก มีทั้งอ่อนและแก่ ถ้ามีดอกเล็ก ๆ มากกว่าดอกใหญ่ ควรรอเก็บเมื่อดอกเล็กโตหรือรอเก็บชุดหลัง

การเก็บดอกเห็ด ควรเก็บขึ้นทั้งกระจุกโดยใช้มือจับทั้งกระจุกอย่างเบาๆ แล้วหมุนซ้ายและขวาเล็กน้อย ดึงขึ้นมาพยายามอย่าให้เส้นใยกระทบกระเทือน

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สรรพคุณของเห็ด

เห็ดหนูหนู ช่วยบำรุงกระเพาะ สมอง หัวใจ ปอด ตับ

แพทย์แผนจีนใช้เป็นอาหารบำรุงไตให้แข็งแรง ลดไข้ แก้ไอ กระตุ้นการทำงานของลำไส้

ช่วยบำรุงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระจายโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ต้มกับน้ำตาลกรวดจิบแก้ไอ

เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรม เห็ดภูฎาน ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดน้ำตาลในเลือด

ปรับสภาพความดันโลหิต ลดการอักเสบ ยังยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย

เห็ดหลินจือ รักษาโรคในระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ 3 ระบบ

1. ระบบทางเดินอาหารเช่น โรคกระเพาะ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร

2. ระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอ แก้ปอดอักเสบ ภูมิแพ้

3. ระบบการไหลเวียนของเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลดโคเลสเตอรอล

เห็ดหอม มีฤทธิ์การต้านและป้องกันมะเร็ง ป้องกันโรคหวัด ความดันโลหิตสูง

บำรุงกำลัง อุดมด้วยวิตามิน A

เห็ดฟาง บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงตับ แก้ช้ำใน

เห็ดเข็มทอง รักษาโรคตับ กระเพาะ และลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เยื่อบุช่องท้อง ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

เห็ดป่าในธรรมชาติ เห็ดตับเต่า บำรุงร่างกาย กระจายโลหิต ดับพิษร้อนภายในร่างกาย

เห็ดเผาะ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน

เห็ดโคน บำรุงร่างกาย ทำให้แช่มชื่น กระจายโลหิต ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้

เห็ดสามอย่างคือเห็ด 3 ชนิด หรือเห็ดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป จะเป็นเห็ดสดหรือเห็ดแห้งก็ได้

นำมาปรุงอาหารแล้วกินได้ทั้งเนื้อเห็ด และน้ำต้มเห็ด

ประโยชน์ของเห็ดสามอย่างเมื่อนำมาปรุงรวมกันเป็นอาหาร

ล้างสารพิษที่ตกค้างในตับ ช่วยบำรุงตับ

ลดอนุมูลอิสระที่จะเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง

เห็ดชนิดเดียวประโยชน์ยังไม่มากเท่ากับเห็ดสามอย่าง มารวมกันหรือสามอย่างขึ้นไป

เห็ดที่นำมาใช้คือ เห็ดที่กินได้

เช่น เห็ดหูหนูดำ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดโคน เห็ดเข็มทอง ฯลฯ

ล้างน้ำให้สะอาดก่อนปรุงโปรตีนในเห็ดสามอย่าง

เมื่อนำมารวมกันประกอบอาหารแล้วจะได้โปรตีนจากเห็ด ที่ร่างกายดูดซึมไปใช้งานได้ง่ายที่สุด

ง่ายกว่าเนื้อสัตว์

โปรตีนจากเห็ดจะไปสร้างกรดอะมิโน ที่บำรุงสมอง

ปรับสมดุลของการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย

ต้านการเกิดมะเร็ง ขจัดสารพิษ

น้ำต้มเห็ดสามอย่างใช้ทำเป็นน้ำซุปปรุงอาหารก็ได้

แต่ไม่ควรนำเห็ดสามอย่างไปผัดน้ำมัน ถ้าจะผัดควรใช้กะทิผัดแทนน้ำมัน

เพราะกะทิเป็นไขมันที่ละลายในน้ำได้ และกะทิมีโคเลสเตอรอลฝ่ายดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ประโยชน์ของเห็ดสามอย่าง

"เห็ด" เป็นอาหารที่มีไขมันต่ำและไม่มีคอเลสเตอรอล

มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์อย่างโปแตสเซียมซึ่งช่วยลดความดันโลหิต

และซีลีเนียมซึ่งเป็นตัวสารต้านมะเร็ง

รวมทั้งยังมีวิตามินและกรดอะมิโนต่างๆที่ร่างกายต้องการในปริมาณพอสมควร

การกิน "เห็ดสามอย่าง" ยิ่งจะได้ประโยชน์ยิ่งกว่ากินเห็ดเพียงอย่างเดียว

เหมือนกับส่วนผสมของดินปืนที่เมื่อแยกส่วนออกมาแต่ละตัวแทบจุดไม่ติดไฟ

แต่พอนำมารวมกันก็กลายเป็นระเบิดได้

เห็ดสามอย่างเมื่อรวมกันนั้นจะมีค่ากรดอะมิโนที่สามารถลดอัตราการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

ช่วยล้างพิษที่สะสมในตับทั้งจากอาหารและสารเคมี

เช่นพิษจากสุรา,สารตกค้างในเนื้อสัตว์,สารเคมีจากเครื่องสำอางค์และพิษจากสารอนุมูลอิสระ

นอกจากนั้นยังล้างไขมันในตับทำให้ตับเเข็งแรงและสร้างเม็ดเลือดแดงได้ดี

การกินเห็ดสามอย่างที่ว่านี้ก็คือเห็ดอะไรก็ตามที่กินได้

ไม่ว่าจะเป็นเห็ดฟาง,เห็ดนางฟ้า,เห็ดนางรม,เห็ดหูหนู,เห็ดเข็มทอง,ฯลฯ

จะนำมาทำแกงเลียง,แกงส้ม,ต้มยำ,ย่างหรือทำอาหารประเภทใดก็ได้โดยที่ไม่ใช้น้ำมัน

นอกจากนั้นยังต้มเป็นน้ำซุปเห็ดดื่มก็ได้

โดยการนำเห็ดอะไรก็ได้ 3 อย่างมาล้างหั่นและนำไปต้มรวมกันในน้ำสะอาด

ใส่มะตูมแว่นที่ปิ้งจนหอมมาต้มรวมกัน

ดื่มแทนน้ำซุปได้ส่วนเนื้อเห็ดนำไปทำอาหารอื่นๆได้อีกด้วย

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คุยกันก่อน

อาหารกับการบำบัดโรค หรือการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นกระแสที่นิยมในปัจจุบัน

"เห็ด" ก็เป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีความอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและรักษาโรคได้หลายชนิด

ปลอดภัยจากสารพิษและสารเคมี

สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย

อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้ทั้งคาวและหวาน

ปัจจุบันความต้องการ "เห็ด" ภายในประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากผู้ประกอบการร้านอาหาร และการบริโภคในครัวเรือน

เพราะโปรตีนที่ได้จากเห็ดสามารถทานทดแทนเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมี "สารต้านมะเร็ง"

ทำให้คนหันมาทานเห็ดกันมากขึ้น

ปัญหาในปัจจุบันที่พบคือ "เห็ด" ที่ผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

เพราะมีผู้ผลิตรายใหญ่น้อยราย ซึ่งส่วนมากจะทำเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ

ส่วนการผลิตเห็ดเพื่อบริโภคภายในประเทศก็จะเป็นเกษตรกรกลุ่มเล็ก ๆ การเพาะเห็ดแต่ละครั้งก็จะเพาะจำนวนไม่มากใช้แรงงานภายในครัวเรือน ทำให้เห็ดในตลาดมีไม่สม่ำเสมอ

"สถานีเห็ด" ได้ทำการศึกษาและวิจัยในธุรกิจเห็ดอย่างละเอียด และพบว่ายังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่มาก ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ธุรกิจเห็ดเป็นธุรกิจทางการเกษตรที่สามารถควบคุมปัจจัยในการเจริญเติบโตของเห็ดได้ในทุกขั้นตอน

สามารถวางแผนการผลิตและควบคุมผลผลิตเห็ดให้ได้ตามต้องการ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทำให้การเพาะเห็ดสามารถให้ผลผลิตรวดเร็วและมีผลตอบแทนทางธุรกิจสูง คุ้มค่ากับการลงทุน

สามารถเพาะเห็ดเพื่อรับประทานในครัวเรือน

และสามารถประกอบเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย