วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย สามารถจะใช้วัสดุเพาะได้หลายอย่าง เช่น ฟาง ผักตบชวา ต้นถั่ว ต้นกล้วย ขี้เลื่อยที่ผ่านการเพาะเห็ดมาแล้ว ชานอ้อย เปลือกมันสำปะหลัง เปลือกถั่วเขียว ใส้นุ่น เป็นต้น

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยเป็นการเพาะที่ใช้วัสดุน้อยแต่ได้ผลผลิตดอกเห็ดสูง เมื่อเห็ดออกดอกแล้วใช้เวลาการเก็บผลผลิตทั้งหมดได้ในเวลาสั้นๆ สามารถรู้ผลผลิตค่อนข้างแน่นอน

เหมาะในการเพาะเป็นอาชีพหรือทำไว้เพื่อใช้กินเองในครัวเรือน เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยนี้มีขนาดกองเล็กมาก ใช้พื้นที่น้อยในการเพาะปลูก และใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นทำกองจนถึงเก็บผลผลิตได้ในเวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้น

ขั้นตอนการเพาะ

1. เตรียมพื้นที่เพาะซึ่งจะเพาะบนดินหรือบนพื้นคอนกรีตก็ได้ ถ้าเป็นพื้นดินก็ให้พรวนดินให้ร่วนเหมือนการปลูกผัก แล้วตากดินไว้ 1-2 วัน

2. โรยฟางแห้งที่แช่น้ำจนนุ่มแล้ว บนดินที่ร่วนซุยนั้น (หากเพาะบนพื้นปูน ก็ให้หาดินร่วนมาโรยบนปูนก่อน แล้วจึงโรยฟาง)

3. วางแบบไม้ที่จะใช้อัดก้อนเพาะบนฟางที่โรย ไม้แบบรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาด 0.30x1.0x0.30 ซม.

4. ใส่ฟางที่แช่น้ำจนนุ่มแล้วลงในแบบไม้ ชั้นที่ 1 หนาประมาณ 3 - 5 นิ้ว

5. จากนั้นจึงใส่อาหารเสริม *ขี้ฝ้ายหมัก* บนฟางบริเวณขอบ ๆ แบบไม้ด้านใน หนาประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้ของเรา

6. โรยขี้วัวแห้งบาง ๆ บนขี้ฝ้ายหมัก

7. โรยเชื้อเห็ดฟางบนขี้ฝ้ายหมักให้รอบแบบไม้เพาะ (พยายามโรยให้ชิดขอบแบบไม้ที่สุด) ถือว่าเสร็จสิ้นชั้นที่ 1

8. สำหรับชั้นต่อ ๆ ไป ก็ทำทุกอย่างเหมือนชั้นที่ 1 โดยทำ 4 - 5 ชั้นก็ได้

9. เมื่อครบทุกชั้นแล้ว ให้รดน้ำสะอาดบนกองเพาะประมาณ 1 ลิตร แล้วก็ดึงแบบไม้ออก วางแบบไว้ให้ห่างจากกองเดิมประมาณ 20 ซม. แล้วอัดก้อนเหมือนเดิม

10. ทำไปเรื่อย ๆ ให้ได้สัก 10 กอง

11. คลุมกองทั้งหมดด้วยพลาสติกให้มิดชิด (ให้ทั้ง 10 กองอยู่ในซุ้มเดียวกัน) พรางแสงด้วยพลาสติกดำ หรือฟางแห้ง ใบไม้ ใบตอง ฯลฯ

12. ปล่อยทิ้งไว้ 3 วัน จึงเปิดตัดใย

13. หลังจากนั้นอีก 5-6 วันก็เก็บดอกเห็ดได้แล้ว

การดูแลรักษากองเห็ด

1. ให้ใช้ผ้าพลาสติกใสหรือสีก็ได้ ถ้า เป็นผ้าพลาสติกยิ่งเก่าก็ยิ่งดีคลุม แล้วใช้ฟางแห้งคลุมกันแดดกันลม ให้อีกชั้นหนึ่ง

ควรระวังในช่วงวันที่ 1-3 หลังการกองเพาะเห็ด

ถ้าภายในกองร้อนเกินไปให้เปิดผ้าพลาสติกเพื่อระบายความร้อนที่ร้อนจัดจนเกินไป และเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น หากดูแลดีก็จะเก็บดอกเห็ดได้ประมาณในวันที่ 8-10 โดยไม่ต้องรดน้ำเลย

ผลผลิตโดยเฉลี่ยจะได้ดอกเห็ดประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อกอง

2. ตรวจดูความร้อนในกองเห็ด โดยปกติเราจะรักษาอุณหภูมิในกองเห็ดโดยเปิดตากลม ประมาณ 5-10 นาที แล้วปิดตามเดิม ทุกวันเช้าเย็น ถ้าวันไหนแดดจัดอุณหภูมิสูงความร้อนในกองเห็ดมาก ก็ควรเปิดชายผ้าพลาสติกให้นานหน่อย เพื่อระบายความร้อนในกองเห็ด

3. วิธีตรวจสอบความชื้นทำได้ไดยดึงฟางออกจากกองเพาะ แล้วลองบิดดู ถ้าน้ำไหลออกมาเป็นสายแสดงว่าแฉะไป แต่ถ้ากองฟาง แห้งไปเวลาบิดจะไม่มีน้ำซึมออกมาเลย ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไปก็ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้บัวรดน้ำเป็นฝอยเพียงเบา ๆ ให้ชื้น

4. หลังจากทำการเพาะเห็ดประมาณ 1 อาทิตย์ จะเริ่มมีตุ่มดอกเห็ดสีขาว เล็ก ๆ ในช่วงนี้ต้องงดการให้น้ำโดยตรงกับดอกเห็ด ถ้าดอกเห็ด ถูกน้ำในช่วงนี้ดอกเห็ดจะฝ่อและเน่าเสียหาย ให้รดน้ำที่ดินรอบกอง

การเก็บดอกเห็ด

เมื่อกองวัสดุเพาะเห็ดไปแล้ว 5-7 วัน จะเริ่มเห็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ เกิดขึ้น ตุ่มสีขาวเหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นเห็ดต่อไป

เกษตรกรจะเริ่มเก็บเห็ดได้เมื่อเพาะไปแล้วประมาณ 7-10 วัน แล้วแต่ความร้อน และการที่จะเก็บเห็ดได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะและฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็วกว่าฤดูหนาว เพราะความร้อน ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเห็ด

นอกจากนั้นถ้าใส่ "อาหารเสริม" ด้วยแล้ว จะทำให้เกิดดอกเห็ดเร็วกว่าไม่ใส่อีกด้วย

ดอกเห็ดที่ขึ้นเป็นกระจุก มีทั้งอ่อนและแก่ ถ้ามีดอกเล็ก ๆ มากกว่าดอกใหญ่ ควรรอเก็บเมื่อดอกเล็กโตหรือรอเก็บชุดหลัง

การเก็บดอกเห็ด ควรเก็บขึ้นทั้งกระจุกโดยใช้มือจับทั้งกระจุกอย่างเบาๆ แล้วหมุนซ้ายและขวาเล็กน้อย ดึงขึ้นมาพยายามอย่าให้เส้นใยกระทบกระเทือน

ไม่มีความคิดเห็น: