วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การผลิตและการตลาดเห็ดฟาง

การผลิตและการตลาดเห็ดฟาง

เห็ดฟางเป็นเห็ดที่มีการผลิตเป็นอันดับ ๕ ของโลก รองจากเห็ดแชมปิญอง เห็ดสกุลนางรม เห็ดหอม และเห็ดหูหนู

ประเทศที่มีการผลิตเห็ดฟางมากคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย และมาเลเซีย

ในประเทศไทยมีผลผลิตประมาณกว่า ๘๔,๐๐๐ ตัน/ปี หรือร้อยละ ๗๐ ของเห็ดทั้งประเทศ มูลค่าการผลิต ๓,๗๘๐ ล้านบาท ก่อให้เกิดธุรกิจหมุนเวียนประมาณ ๘,๔๐๐ ล้านบาท / ปี

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๔๕ บาท และราคาสูงสุดเคยได้ถึงกิโลกรัมละ ๙๐-๑๐๐ บาท ในช่วงเทศกาลอาหารเจในเดือนตุลาคมของทุกปี

ต้นทุนการเพาะเห็ดและผลตอบแทน

ต้นทุนการผลิตเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

-เห็ดฟางจากฟางข้าว ๑๘.๐๐ บาท / กิโลกรัม

-เห็ดฟางจากเปลือกถั่วเขียว ๑๗.๐๐ บาท / กิโลกรัม

-เห็ดฟางจากเปลือกมันสำปะหลัง ๑๕.๐๐ บาท / กิโลกรัม

-เห็ดฟางจากวัสดุอื่น ๆ ๑๕ -๒๐ บาท / กิโลกรัม

เห็ดฟางในโรงเรือนแบบอุตสาหกรรม

ก. ค่าวัสดุสร้างโรงเรือน (ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๒.๕-๓ เมตร) = ๗,๐๐๐ บาท (ใช้ได้ ๓-๕ ปี )

ข. อุปกรณ์ประกอบโรงเรือน (พลาสติกเคลือบ เทอร์โมมิเตอร์ เตาเศรษฐกิจ ท่อต่อไอน้ำ ฯลฯ = ๑,๐๐๐ บาท

ค. ค่าวัสดุทำปุ๋ยหมักและเชื้อเห็ดฟาง ๒,๕๐๐ บาท /ครั้ง/โรงเรือน คิดเป็นต้นทุนเห็ดฟางจากโรงเรือน ๓๐ บาท/ กิโลกรัม

ตลาดเห็ดฟาง

เห็ดฟางมีการผลิตมากในบริเวณรอบเมืองใหญ่ ๆ ที่มีการทำนาปลูกข้าวและมีฟางเหลือมาก นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง คือ จะต้องมีตลาดรองรับที่แน่นอน

การซื้อขายส่วนใหญ่จะทำผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด คือ เดือนเมษายน - พฤษภาคม และช่วงที่มีผลผลิตน้อย คือ ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งราคาเห็ดทุกชนิดจะสูงในช่วงนี้

การเก็บเห็ดฟาง เกษตรกรจะเก็บเห็ดตั้งแต่เที่ยงคืนหรืออย่างช้าตีสี่ส่งให้ขาประจำที่ไปรับซื้อหรือพ่อค้าท้องถิ่นในราคากิโลกรัมละ ๔๕ - ๕๐ บาท จากนั้นพ่อค้าคนกลางจะส่งเห็ดต่อไปยังตลาดสี่มุมเมืองและปากคลองตลาด ราคาขายปลีกที่ตลาดประมาณกิโลกรัมละ ๘๐ - ๙๐ บาท

โดยตลาดจะให้ราคาเห็ดฟางสูงเมื่อดอกตูม ส่วนดอกบานราคาจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่า

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำเห็ดฟางกระป๋องจะรับซื้อเห็ดฟางสดในราคากิโลกรัมละ ๒๕ - ๓๐ บาท เพื่อบรรจุกระป๋องและคัดเอาเฉพาะคุณภาพเท่านั้น

เห็ดฟางในตลาดนี้สามารถแบ่งได้เป็น ๓ รูปแบบคือ

๑.เห็ดฟางสดหรือแช่แข็ง เห็ดฟางสดเป็นที่นิยมรับประทานกันมากภายในประเทศแต่มักประสบปัญหาอากาศร้อนอบอ้าว การขนส่งจะต้องเก็บรักษาเห็ดให้สดเมื่อนำออกจำหน่ายเพื่อไม่ให้ราคาจำหน่ายที่ได้รับลดลง โดยเกษตรกรจะต้องเก็บเห็ดในช่วงกลางคืนในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืดเพื่อให้ทันการจำหน่ายที่ตลาดในช่วงเช้า

๒.เห็ดฟางแห้ง เป็นผลิตผลจากการแปรรูปเห็ดฟางสด โดยนำไปอบในตู้อบหรือตากแดดให้แห้ง ตลาดเห็ดฟางแห้งในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะผู้บริโภคยังสามารถหาซื้อเห็ดฟางสดมารับประทานได้ง่าย

๓.เห็ดฟางกระป๋องและภาชนะต่างๆ เห็ดฟางที่ส่งเข้าโรงงานนั้นจะต้องมีการคัดคุณภาพ ขนาด รูปร่าง สีสัน และตำหนิไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานสากลในการรับซื้อ

นอกจากนี้เห็ดฟางยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น น้ำพริกเผาเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด น้ำปลาเห็ด เห็ดดองน้ำปลา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: